ภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8
ภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 (ก็อปปีจากต้นฉบับ) | |
---|---|
ศิลปิน | ฮันส์ โฮลไบน์ (ผู้ลูก) |
ปี | ค.ศ. 1536 หรือ ค.ศ. 1537 |
สถานที่ | หอศิลป์วอล์คเคอร์, ลิเวอร์พูล |
ภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 (อังกฤษ: Portrait of Henry VIII) เป็นภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1698) ที่เขียนโดยฮันส์ โฮลไบน์ (ผู้ลูก) ผู้เป็นจิตรกรคนสำคัญชาวเยอรมันของสมัยบาโรก แม้ว่าจะเป็นภาพที่สูญเสียไปแต่ก็ยังถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญจากงานที่ก็อปปีจากงานต้นฉบับ ภาพเหมือนภาพนี้เป็นภาพ "ไอคอน" ที่มีชื่อเสียงที่สุดภาพหนึ่งในบรรดาภาพเขียนของพระมหากษัตริย์อังกฤษที่เดิมวาดเป็นจิตรกรรมฝาผนังภายในพระราชวังไวท์ฮอลล์ในกรุงลอนดอนใน ค.ศ. 1536 หรือ ค.ศ. 1537 ภาพต้นฉบับถูกทำลายในเพลิงไหม้ที่พระราชวังไวท์ฮอลล์ใน ค.ศ. 1698
ภาพเขียน
[แก้]โฮลไบน์เดิมมาจากเยอรมนี และมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจิตรกรประจำราชสำนักอังกฤษในปี ค.ศ. 1536 ภาพเหมือนเขียนขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งห้องส่วนพระองค์ภายในพระราชวังไวท์ฮอลล์ที่สมเด็จพระเจ้าเฮนรีทรงได้มาใหม่ พระองค์ทรงใช้เงินเป็นจำนวนมากในการตกแต่งพระราชวังที่มีเนื้อที่ 23 เอเคอร์ที่ทรงยึดมาหลังจากการประหารชีวิตคาร์ดินัลทอมัส โวลซีย์ (Thomas Wolsey) จิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพสี่ภาพรอบแท่นหินอ่อนที่รวมทั้งภาพของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีเอง พระอัครมเหสีเจน ซีมัวร์ พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 และพระราชมารดาเอลิซาเบธแห่งยอร์ค พระองค์ทรงจ้างให้โฮลไบน์เขียนภาพในช่วงระยะเวลาอันสั้นระหว่างที่ทรงเสกสมรสกับเจน ซีมัวร์ที่คงราวระหว่างปี ค.ศ. 1536 ถึงปี ค.ศ. 1537
ภาพเหมือนของพระเจ้าเฮนรีเป็นภาพเหมือนที่เป็นเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ยุโรปในยุ่คนั้น พระองค์ทรงวางท่าให้เขียนโดยปราศจากเครื่องยศศักดิ์ต่างๆ เช่นพระขรรค์, มงกุฎ หรือ คทาในการแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์เช่นที่ทำกันตามปกติ เพียงแต่ทรงวางพระองค์อย่างแสดงความสง่าและความมีอำนาจ พระองค์ทรงยืนด้วยพระวรกายที่สูงสง่าอย่างมีผู้มีความมั่นใจในตนเอง พระเนตรทอดตรงมายังผู้ดูภาพ พระชงฆ์กาง และพระกรอยู่ข้างพระองค์ในท่าที่ท้าทาย พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือถุงพระหัตถ์ อีกข้างอยู่เหนือกริชที่ห้อยอยู่จากบั้นพระองค์ เครื่องแต่งและฉากรอบพระองค์จัดอย่างหรูหราวิจิตร ภาพต้นฉบับใช้ทองคำเปลวในการตกแต่งเพื่อเน้นความหรูหรา สิ่งที่น่าสนใจคือรายละเอียดของการปักด้ายดำ (Blackwork Embroidery) พระเจ้าเฮนรีทรงเครื่องเพชรพลอยต่างๆ ที่รวมทั้งพระธำมรงค์ขนาดใหญ่หลายวง และสร้อยพระศอสองสาย ถุงคลุมของสงวน (codpiece) ชิ้นใหญ่และเครื่องหนุนพระพาหายิ่งช่วยในการส่งเสริมความเป็นชายผู้มีอำนาจของพระองค์มากขึ้น
ภาพเขียนนี้มักจะได้รับคำบรรยายว่าเป็นภาพเขียนที่มีจุดประสงค์ในการ “โฆษณาชวนเชื่อ” ที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นการประกาศแสดงความมีพระราชอำนาจของพระองค์ เป็นภาพที่จิตรกรจงใจเขียนให้ยิ่งทรงดูมีความสง่าและความมีอำนาจ เมื่อเปรียบเทียบภาพนี้กับฉลองพระองค์ที่เป็นเกราะที่ยังคงมีอยู่ทำให้ทราบว่ามีพระวรกายเตี้ยกว่าที่ปรากฏในภาพ นอกจากนั้นก็ยังเป็นภาพที่แสดงว่ามีพระสุขภาพพลานามัยดี ซึ่งอันที่จริงแล้วในขณะนั้นพระเจ้าเฮนรีมีพระชนมายุสี่สิบพรรษากว่าๆ และทรงได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างหนักในต้นปีเดียวกัน และมีพระพระสุขภาพพลานามัยที่ไม่ค่อยดีนัก ที่มีผลต่อพระองค์เมื่อมีพระชนมายุสูงขึ้นต่อมา[1]
สมเด็จพระเจ้าเฮนรีทรงมีความเข้าพระทัยในภาพที่โฮลไบน์สร้างขึ้นและทรงสนับสนุนให้จิตรกรอื่นลอกเลียนงานเขียนเพื่อแจกจ่ายไปทั่วราชอาณาจักรสำหรับเป็นของขวัญที่พระราชทานให้กับพระสหาย หรือ ราชทูต ขุนนางสำคัญๆ ก็จ้างให้เขียนภาพเหมือนของตนเองเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ การที่งานชิ้นนี้ได้รับการก็อปปีเป็นจำนวนมากทำให้กลายมาเป็นรูปสัญลักษณ์ประจำตัว หรือภาพไอคอนของพระเจ้าเฮนรีไปแม้ว่าภาพต้นฉบับจะถูกทำลายไปในเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1698 ไปแล้วก็ตาม กระนั้นภาพนี้กลายเป็นภาพพจน์อันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของพระองค์ เช่นเมื่อชาร์ลส์ ลาฟตันนำมาใช้ในการแสดงภาพยนตร์เรื่อง “ชีวิตส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8” เมื่อตัวละครวางท่าและเดินท่าทางเดียวกับที่ปรากฏในภาพของโฮลไบน์[2] คำนำในบทละคร “เฮนรีที่ 8” โดยเชคสเปียร์บรรยาพระองค์ว่า “a fellow / In a long motley coat guarded with yellow” ซึ่งก็คงเป็นคำบรรยายที่มาจากภาพเหมือนของพระองค์ที่โฮลไบน์เขียน[3]
ภาพเขียนที่ยังคงอยู่
[แก้]ภาพร่างที่โฮลไบน์เขียนเตรียมไว้เพื่อการเขียนภาพเหมือนยังคงมีอยู่ให้เห็นที่หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน ภาพร่างแตกต่างจากภาพที่เขียนจริงเล็กน้อย ที่เห็นได้ชัดคือการยืนที่เป็นท่าสามในสี่เช่นแบบของการยืนที่ทำกันมาแทนที่จะเป็นท่าที่ดูท้าทายเช่นในเวอร์ชันสุดท้าย นอกจากนั้นก็ยังมีภาพเหมือนครึ่งพระองค์ขนาดเล็กกว่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธิสเซน-บอร์เนมิสซาในกรุงมาดริด ภาพนี้ที่เป็นภาพเขียนภาพเดียวของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีโดยโฮลไบน์ก็อาจจะเป็นงานเขียนร่างที่เตรียมสำหรับการเขียนจริง ในภาพนี้สมเด็จพระเจ้าเฮนรีทรงฉลองพระองค์เดียวกับภาพเขียนบนผนัง แต่ก็ยังทรงยืนแบบสามในสี่ ภาพนี้เดิมเป็นของตระกูลสเปนเซอร์อยู่เป็นเวลาหลายปี แต่ในที่สุดปัญหาทางการเงินก็ทำให้อัลเบิร์ต สเปนเซอร์ เอิร์ลสเปนเซอร์ที่ 7 ต้องขายงานศิลปะไปหลายชิ้น และชิ้นที่ว่านี้ก็ถูกซื้อโดยไฮน์ริค บารอนธิสเซน-บอร์เนมิสซา เดอ คาสซอน
ภาพก็อปปีอื่น ๆ ของภาพเขียนต้นฉบับระบุว่าเป็นงานเขียนโดยจิตรกรผู้อื่น แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบชื่อว่าเป็นผู้ใด คุณภาพของงานลอกก็แตกต่างกันเป็นอันมาก งานส่วนใหญ่เขียนแต่รูปของพระองค์ แต่ก็มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่ลอกโดยริมิเจีย ฟาน ลีมพุทใน ค.ศ. 1667 ที่ก็อปปีทั้งภาพที่ในปัจจุบันอยู่ที่พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท[4] ก็อปปีที่มีคุณภาพดีที่สุดและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดเป็นของหอศิลป์วอล์คเคอร์ ที่อาจจะเป็นภาพที่ว่าจ้างโดยเอ็ดเวิร์ด ซีมัวร์[5]
ภาพ | ปีเขียน | หมายเหตุ | ที่ตั้ง |
---|---|---|---|
หอศิลป์แห่งออนแทรีโอ | |||
ปราสาทเบลวัวร์ | |||
ค.ศ. 1542 | ปราสาทฮาวเวิร์ด | ||
โดย ฮันส์ อีเวิร์ธอาจจะได้รับการจ้างโดยวิลเลียม คาเวนดิช | คฤหาสน์แชทเวิร์ธ | ||
ค.ศ. 1667 | เรมิเจียส ฟาน ลีมพุทจิตรกรรมฝาผนังเต็มตัวชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ | พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท | |
พระราชวังโฮลีรูด | |||
พิพิธภัณฑ์ทางทะเลแห่งชาติ | |||
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งโรม | |||
งานร่างโดยโฮลไบน์ | หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน | ||
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน | |||
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน | |||
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน | |||
หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ, ลอนดอน | |||
นิวคอลเลจ, ออกซฟอร์ด | |||
คฤหาสน์พาแรม | |||
จากกาลานุกรมต้นไม้สันนิษฐานว่าใส่กรอบหลัง ค.ศ. 1525 | สร้างโดยห้องเขียนภาพของโฮลไบน์ | คฤหาสน์เพ็ทเวิร์ธ | |
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน | |||
อุทิศในปี ค.ศ. 1737 | โรงพยาบาลเซนต์บาร์โทเลมิว | ||
ราว ค.ศ. 1534-1536 | งานร่างโดยโฮลไบน์ | Thyssen-Bornemisza Museum | |
ทรินิที คอลเลจ, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ | |||
จากการวัดกาลานุกรมต้นไม้กรอบสันนิษฐานว่าเป็นกรอบที่สร้างขึ้นหลัง ค.ศ. 1530 | หอศิลป์วอล์คเคอร์ | ||
ค.ศ. 1535-1544 | งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์ | ||
ราว ค.ศ. 1538-47? | งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์ | ||
ค.ศ. 1550-1650 | งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์ | ||
ค.ศ. 1550-1599 | งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ, พระราชวังวินด์เซอร์ |
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Derek Wilson "Was Hans Holbein's Henry VIII the best piece of propaganda ever?" The Telegraph 23 Apr 2009
- ↑ Holbein's legacy
- ↑ "Shakespeare on Holbein."
- ↑ "VIII Revealed." Walker Art Gallery, Liverpool
- ↑ Walker Art Gallery's Henry
- ↑ Portraits of King Henry VIII: Hans Holbein and His Legacy.